เน้นการศึกษาเกี่ยวกับ การนำคอมพิวเตอร์ไปจัดการกับข้อมูลข่าวสาร ทั้งด้านฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ โดยจัดเป็นหมวดหมู่ได้ดังนี้

๑. เทคโนโลยีที่เกี่ยวกับการเขียนโปรแกรมและซอฟต์แวร์ นักศึกษาจะได้ศึกษาถึง วิธีการเขียนโปรแกรมด้วยภาษาต่างๆ ได้แก่ ภาษาซี ภาษาจาวา ภาษาพีเฮชพี และภาษาเอส คิวแอล เป็นต้น นอกจากนี้ยังศึกษาถึงหลักการเขียนโปรแกรมหรืออัลกอริธึม และศึกษาว่ามีโครงสร้างข้อมูลอะไรบ้างที่ใช้ในการเขียนโปรแกรมรวมทั้งศึกษาว่า ภาษาที่ใช้ในการโปรแกรมคอมพิวเตอร์มีกี่ประเภท แต่ละประเภทมีลักษณะเฉพาะอย่างไร แตกต่างกันอย่างไร และศึกษาวิธีการแปลงภาษาระดับสูงที่มนุษย์เข้าใจ ไปเป็นภาษาเครื่องที่คอมพิวเตอร์สามารถเข้าใจได้ รวมทั้งศึกษาวิธีการเขียนออกแบบระบบ

๒. เทคโนโลยีที่เกี่ยวกับโครงสร้างของคอมพิวเตอร์และการควบคุมคอมพิวเตอร์ นักศึกษาจะได้ศึกษาว่า คอมพิวเตอร์ประกอบด้วยวงจรไฟฟ้าแบบดิจิตอลอย่างไร และศึกษาว่าคอมพิวเตอร์มีโครงสร้างหรือสถาปัตยกรรมเป็นแบบใด และศึกษาว่านอกจากฮาร์ดแวร์แล้วคอมพิวเตอร์จำเป็นต้องมีโปรแกรมพื้นฐาน ไว้ติดต่อสื่อสารระหว่างผู้ใช้กับคอมพิวเตอร์ ที่เรียกว่า ระบบปฏิบัติการหรือโอเอส รวมทั้งศึกษาวงจรคอมพิวเตอร์เฉพาะงาน ที่เรียกว่าไมโครโปรเซสเซอร์ และการนำไมโครโปรเซสเซอร์ไปประยุกต์ใช้งานต่างๆ และเทคโนโลยีที่ทันสมัยและเป็นที่กล่าวถึงกันอยู่ในปัจจุบันก็คือ ระบบสมองกลฝังตัวซึ่งเป็นคอมพิวเตอร์ขนาดเล็ก ที่ฝังตัวอยู่ในอุปกรณ์ต่างๆ เช่น รถยนต์ โทรทัศน์ วิทยุ ตู้เย็น และเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นๆ เป็นต้น

๓. เทคโนโลยีที่เกี่ยวกับการสื่อสารระหว่างคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์สื่อสาร นักศึกษาจะได้ศึกษาถึง พื้นฐานของการสื่อสารข้อมูล โครงสร้างและโปรโตคอลของเครือข่ายคอมพิวเตอร์ (คอมพิวเตอร์เน็ตเวิร์ค) การนำคอมพิวเตอร์มาเชื่อมโยงกันเพื่อใช้งานร่วมกัน รวมทั้งศึกษาถึง การนำคอมพิวเตอร์ไปให้บริการต่างๆ ทางอินเตอร์เน็ต และเทคโนโลยีสารสนเทศบนเครื่องคอมพิวเตอร์แบบพกพา เช่น มือถือ เครื่องปาล์ม เป็นต้น

ผู้ที่จบสาขาเทคโนโลยีสารสนเทศแล้ว สามารถศึกษาต่อได้ทั้งในมหาวิทยาลัยของรัฐและของเอกชน ผู้สำเร็จในสาขาวิชานี้ สามารถทำงานในทุกองค์กรที่มีคอมพิวเตอร์ เช่น ผู้ออกแบบและวิเคราะห์ระบบสารสนเทศในบริษัทหรือองค์กรต่างๆ ผู้ดูแลระบบคอมพิวเตอร์และบำรุงรักษาระบบสารสนเทศ ผู้เขียนโปรแกรมประยุกต์หรือโปรแกรมระบบงาน หรือที่เรียกว่าโปรแกรมเมอร์ ผู้ออกแบบสร้างและบำรุงรักษาระบบฐานข้อมูลซึ่งเป็นระบบสารสนเทศพื้นฐานในทุกองค์กร ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ผู้ออกแบบและโปรแกรมระบบสารสนเทศอัจฉริยะ และผู้ออกแบบและโปรแกรมระบบกราฟิกหรืออะนิเมชั่น

คุณสมบัติของผู้สมัคร

๑. ผู้สมัครเข้าศึกษาหลักสูตรปวส.สาขางานเทคโนโลยีสารสนเทศ (ม.๖) ต้องสำเร็จการศึกษาหรือคาดว่าจะสำเร็จการศึกษาสำเร็จการศึกษาระดับชั้น ม.๖ หรือเทียบเท่า หรือ ระดับปวช.ชั้นปีที่ ๓ ทุกสาขางาน
๒. ผู้สมัครเข้าศึกษาหลักสูตรปวส.สาขางานเทคโนโลยีสารสนเทศ (ทวิภาคี) ต้องสำเร็จการศึกษาหรือคาดว่าจะสำเร็จการศึกษาสำเร็จการศึกษาระดับชั้น ม.๖ หรือเทียบเท่า หรือ ระดับปวช.ชั้นปีที่ ๓ ทุกสาขางาน
๓. มีความประพฤติเรียบร้อย และ มีผู้ปกครองที่สามารถดูแลรับผิดชอบเกี่ยวกับความประพฤติและการศึกษาตลอดเวลาที่เป็นนักศึกษา
๔. มีสุขภาพร่างกายแข็งแรงไม่เป็นอุปสรรคต่อการเรียนวิชาชีพในสาขานั้น ๆ ได้โดยตลอดหลักสูตร
๕. มีภูมิลําเนาเป็นหลักแหล่งหรือมีหลักฐานของทางราชการในลักษณะเดียวกัน
๖. ไม่เคยมีประวัติหรือพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับการค้าหรือเสพยาบ้าหรือสิ่งเสพติดทุกประเภทมาก่อน

ครูผู้สอน